ยูคาลิปตัส กับความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่

      ยูคาลิปตัส มีที่มาอย่างไร ?
               ยูคาลิปตัส (Eucalyptus)  เป็นพรรณไม้มีถิ่นกำเนิดใน เกาะแทสเมเนีย ทวีปออสเตรเลีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะมินดาเนา เซลีเบส ปาปัวนิวกินี ในพื้นที่ชุ่มที่มีน้ำขังในเขตร้อน  ยูคาลิปตัส มีทั้งหมดมากกว่า 500 ชนิด (Species) 
 


รายละเอียดบทความ

      ยูคาลิปตัส มีที่มาอย่างไร ?
               ยูคาลิปตัส (Eucalyptus)  เป็นพรรณไม้มีถิ่นกำเนิดในเกาะแทสเมเนีย ทวีปออสเตรเลีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะมินดาเนา เซลีเบส ปาปัวนิวกินี ในพื้นที่ชุ่มที่มีน้ำขังในเขตร้อน  ยูคาลิปตัส มีทั้งหมดมากกว่า 500 ชนิด (Species) มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และ พบว่า ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเกือบทุกสภาพพื้นที่ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูง จึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

      ทำไมยูคาลิปตัส จึงโตเร็ว ?
               หลายคนคงเคยได้ยินว่า ยูคาลิปตัสโตเร็วมากและสามารถหาสารอาหารในดินได้เก่งกว่าพืชชนิดอื่น อันนี้เป็นผลมาจากยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่มีพื้นที่ของกระพี้(xylem)มาก ทำให้มีพื้นที่ลำเลียงน้ำขึ้นสู่เรือนยอดมากตามไปด้วย เนื่องจากแนวโน้มการดูดน้ำของต้นไม้แต่ละต้นมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของกระพี้ในลำต้นเป็นสำคัญ อีกทั้งยูคาลิปตัสยังมีระบบรากที่แผ่ขยายเร็วและสามารถหยั่งลงไปในดินได้ในระดับลึก จึงมีประสิทธิภาพในการเสาะแสวงหาแหล่งน้ำใต้ดินได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ 

       ยูคาลิปตัสจะทำให้พื้นที่แห้งเป็นทะเลทรายได้หรือไม่ ?
               การจะตอบคำถามนี้ได้เราต้องมาดูกันว่าการใช้น้ำของยูคาลิปตัสนั้นแตกต่างกับพืชชนิดอื่นๆ อย่างไร จากการศึกษาผลกระทบของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำบนดินของ พิทยา เพชรมาก(2530) พบว่าการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิดสามารถแสดงออกมาในรูปของอัตราส่วนการคายน้ำ ซึ่งเป็นค่าของปริมาณน้ำที่พืชใช้ในการสร้างวัตถุแห้งหนักหนึ่งกรัม ประสิทธิภาพในการใช้น้ำของพืชจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืชพรรณ ดังนั้นอัตราส่วนการ คายน้ำของพืชชนิดใด มีค่าต่ำแสดงว่าพืชชนิดนั้นมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำได้สูง (วิสุทธิ์,2530) และจากการทดลองของ Dabral (1970) ได้ทำการศึกษาด้วยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้น้ำของไม้ 4 ชนิด คือ ไม้สนเขา ไม้พอพูลัส ไม้พยุง และไม้ยูคาลิปตัส พบว่า ในการสร้างมวลสาร 1 กรัม พรรณไม้ต่างๆ ข้างต้นจะต้องใช้ปริมาณน้ำ 8.87, 3.04, 2.59 และ 1.41 มิลลิลิตรต่อกรัม ตามลำดับ แสดงว่าไม้ยูคาลิปตัสมีประสิทธิภาพการใช้น้ำดีที่สุด เนื่องจากใช้น้ำน้อยที่สุดในการสร้างมวลชีวภาพต่อกรัม 

               นอกจากนี้เรื่องการใช้น้ำของยูคาลิปตัสที่มีผลต่อระดับน้ำใต้ดิน ที่ถูกโจมตีว่าเมื่อปลูกยูคาลิปตัสที่ใดบ่อน้ำหรือบ่อบาดาลจะแห้ง ซึ่งจากการศึกษาของพิทยา (2530) โดยทำการทดลองขุดบ่อในแปลงซึ่งปลูกไม้      2 ชนิด คือ แปลงไม้ยูคาลิปตัส และไม้กระถินณรงค์ เปรียบเทียบกับบ่อที่ขุดในที่โล่ง จำนวน 4 บ่อ ปรากฏว่าเมื่อขุดบ่อได้ลึก ประมาณ 2.60 เมตร ก็ถึงระดับน้ำใต้ดินในบ่อทั้ง 4 แห่ง และทำการบันทึกระดับน้ำทุก ๆ 5 วัน ตลอดช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือน มกราคม - เมษายน 2529 พบว่าการลดระดับน้ำใต้ดินในบ่อของทั้ง 3 บริเวณ ไม่มีความแตกต่างกัน น้ำใต้ดินในบ่อลดลงเฉลี่ยวันละ 1.50 เซนติเมตร เท่าๆ กัน ทั้งในสวนป่าไม้ยูคาลิปตัส ไม้กระถินณรงค์ ที่มีอายุ 7 ปี และในที่โล่งตลอดช่วงฤดูแล้งระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 23 เมษายน 2529 ซึ่งสรุปได้ว่าระบบรากของไม้ยูคาลิปตัสมีการปรับตัวที่จะใช้น้ำฝนในส่วนของผิวดินมากกว่าจะใช้น้ำใต้ดินในระดับความลึกมากๆ
               จากข้อมูลดังกล่าวก็ทำให้เราพอจะสรุปได้ว่า ต้นยูคาลิปตัสนั้น ไม่สามารถทำให้สภาพดินบริเวณนั้นๆ กลายสภาพเป็นทะเลทรายได้ ในทางกลับกันต้นยูคาลิปตัสมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำที่ค่อนข้างดีกว่าพืชหลายๆ ชนิดจึงทำให้มีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าพืชชนิดอื่น และค่อนข้างเหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ที่มีความชื้นน้อย มีปริมาณฝนต่ำ และดินค่อนข้างแห้ง

ข้อดี – ข้อเสียของยูคาลิปตัส

ข้อดี
1. โตเร็ว สามารถใช้ประโยชน์ได้ภาย 4-5 ปี มีการลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อ เทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น
2.  เจริญเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
3.  มีประสิทธิภาพสูงในการใช้น้ำและธาตุอาหารน้อยสำหรับการเจริญเติบโต
4.  ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้นได้ โดยการเป็นไม้เบิกนำที่ดี
5.  มีความสามารถในการแตกหน่อ
6.  มีเนื้อไม้แข็งแรง ลำต้นตรง
7.  กิ่งก้านใช้ทำฟืนถ่านที่มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูง ไม่แตกขณะเผาและไม่มีควัน คุณภาพถ่านใกล้เคียงถ่านจากไม้โกงกาง
8.  เมื่ออายุ 3-6 ปี เนื้อไม้มีความเหมาะสมสำหรับผลิตเยื่อกระดาษจากการประเมินเยื่อไม้ยูคาลิปตัส 1 ตัน ผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน         เยื่อไม้ยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับ ไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียวประเภทต่างๆ ได้
9.  ทำชิ้นไม้สับ ไม้ยูคาลิปตัสเมื่อนำมาแปรรูปและสับทำชิ้นไม้สับ สามารถนำไปผลิตแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นปาร์ติเกิล และแผ่นไม้อัดซีเมนต์ นอกจากนี้ได้มีโรงงานผลิตชิ้นไม้สับ เพื่อนำส่งไปจำหน่ายให้กับโรงงานเยื่อกระดาษทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการสูงมาก ไม้ท่อนยูคาลิปตัส 2.2 ตัน นำมาผลิตเป็นชิ้นไม้สับได้ 1 ตัน ราคาชิ้นไม้สับ ประมาณตันละ 3,000 บาทเศษ
10. ช่วยทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ อันเนื่องจากปริมาณน้ำที่ต้นไม้ยูคาลิปตัสดูดขึ้นไปคายน้ำออกทางใบ เป็นปริมาณกว่า 95% มีส่วนช่วยทำให้ฝนตก ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน

ข้อเสีย
1.  เป็นไม้ที่มีความสามารถในการแก่งแย่งทางด้านเรือนรากสูง มีการแก่งแย่งความชื้นได้ดี หากปริมาณความชื้นในดินต่ำหรือฝนตกน้อยไม้ยูคาลิปตัสจะดูดความชื้นจากดินไปหมด ทำให้การเจริญเติบโตของพืชชั้นล่างและไม้ข้างเคียงชะงัก
2.  ใบสดของยูคาลิปตัสมีน้ำมันหอมระเหยสะสมอยู่ ซึ่งถ้ามีปริมาณความเข้มข้นสูงจะสามารถยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของพืชอื่นได้
3.  เป็นไม้ที่มีศักยภาพต่ำในการปลูกเพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
4.  คุณภาพเนื้อไม้ยูคาลิปตัสเมื่อแปรรูปจะบิดงอได้ง่าย เนื้อไม้มีเสี้ยนบิดเป็นเกลียวและแตกร้าว จึงเหมาะสมสำหรับใช้งานหน้าแคบและสั้น

       ดินในพื้นที่เหมืองแร่เป็นอย่างไร?
                ดินในพื้นที่เหมืองแร่จะเป็นดินที่ผ่านกระบวนการทำเหมืองแร่มาแล้ว ดินเดิมถูกแปรสภาพโดยการขุด ฉีด สูบ และแยกแร่ มีสภาพพื้นที่เป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ กองกรวด กองหิน และขุมเหมืองเป็นหย่อม ๆ กระจายทั่วพื้นที่ ดินเป็นดินไม่มีโครงสร้าง และอัดตัวกันแน่น จึงมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยมาก

ปัญหาจากการใช้ประโยชน์พื้นที่เหมืองแร่เป็นอย่างไร?
 พื้นที่เหมืองแร่ มีข้อจำกัดในการ ใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้
1. ภูมิประเทศไม่สม่ำเสมอ สูงๆต่ำๆ ยากต่อการปรับให้ราบเรียบ
2. ดินเป็นดินทรายจัด มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
3. ดินถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย ทำให้เกิดริ้วรอย หรือร่องลึก และเกิดตะกอน ทับถมในลำน้ำธรรมชาติ

วิธีการปลูกยูคาลิปตัสในเหมืองแร่ควรทำอย่างไร?
 จากผลการทดลองความเหมาะสมของระยะปลูกและอัตราการใช้ปุ๋ยที่มีต่อการเจริญเติบโตของ ยูคาลิปตัสในเหมืองแร่เก่าของ วิรัตน์  ตันภิบาล(2531) ซึ่งทำการทดลองที่สถานีปรับปรุงดินเหมืองแร่เก่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในยูคาลิปตัส 3 ชนิด ได้แก่ camaldulensis  deglupta และ tereticornis ที่ระยะปลูก 2x2  3x3 และ 4x4  ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15  3 ระดับ คือ 0  1  และ 2 กก. /ต้น/3 ปี สามารถสรุปได้ว่า ยูคาลิปตัสชนิด camaldulensis ที่ระยะปลูก 2x2  และได้รับปุ๋ย 2 กก./ต้น/ 3 ปี มีการเจริญเติบโตดีที่สุด  และก่อนนำกล้าไม้ไปปลูกควรทำการทำกล้าไม้ให้แกร่ง โดยการนำกล้าไม้มาตากแดด ลดการให้น้ำและอาหาร เมื่อสังเกตเห็นต้นกล้าเริ่มเหี่ยวเฉาก็ให้น้ำและอาหาร ทำซ้ำๆ กันเรื่อยๆ ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งวิธีการนี้เราจะได้ต้นกล้าไม้ที่แข็งแรงสามารถนำไปปลูกในแปลงฟื้นฟูได้ และมีเปอร์เซ็นต์การรอดค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีต้องระวังไม่ให้รากของต้นกล้าไม้บอบช้ำเสียหายในทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การขนย้าย จนกระทั่งถึงการปลูกในพื้นที่ เพราะจะทำให้ต้นกล้าไม้ ไม่สามารถหาสารอาหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูพื้นที่ก็จะไม่เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

      การฟื้นฟูพื้นที่เหมืองโดยการปลูกยูคาลิปตัส
               จากข้อมูลที่ได้นำเสนอทั้งหมดข้างต้น เราสามารถปลูกยูคาลิปตัสเพื่อฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเหมืองแร่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี หาอาหารเก่ง โตเร็ว เหมาะที่จะเป็นพันธุ์ไม้เบิกนำสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ และควรปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางระบบนิเวศต่อไป อีกทั้งหากเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์เราสามารถปลูกบริเวณขอบพื้นที่ประทานบัตรเพื่อเป็นแนวกันชน โดยอาจปลูกเพิ่มขึ้นอีก 2-3 แถว (โดยทั่วไปเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมมักให้ปลูกพืชประมาณ 2-3 แถว) ซึ่งใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 ม. เท่านั้น แต่สามารถที่จะตัดต้นยูคาลิปตัสขาย ทีละแถวๆ สลับกันไปในแต่ละรอบ เพื่อที่จะได้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง และไม่กระทบต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ แต่ในส่วนของพื้นที่ป่าไม้ คงไม่เหมาะสมนักในการที่จะปลูกต้นยูคาลิปตัสสำหรับตัดขายเป็นรอบๆ เนื่องจากการจะตัดต้นไม้ใดๆ ในเขตพื้นที่ป่าไม้จะต้องดำเนินการตามระเบียบของกรมป่าไม้  ดังนั้นสำหรับพื้นที่ของป่าไม้จึงควรเป็นการปลูกกระจายรอบๆ พื้นที่ พร้อมกับพืชโตเร็วชนิดอื่นๆ จึงน่าจะเหมาะสมกว่า

เอกสารอ้างอิง
1. “ยูคาลิปตัส.” จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 13 มีนาคม 2552, 17:42 UTC, <
http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%AA&oldid=1683051> [นำมาใช้เมื่อ 9 กรกฎาคม 2552]
2. พิทยา เพชรมาก. 2530. ผลกระทบทางนิเวศนวิทยาของการปลูกไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส ในประเทศไทย. สำนักงานส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้. 18 น
3. “ข้อดีข้อเสียของยูคาลิปตัส เอกสารเผยแพร่”  ส่วนปลูกป่าในที่เอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้
4.  “การปลูกไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิสและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ.” จาก บริษัท ไทยซูมิ จำกัด. <
http://www.charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/yuka.php> [นำมาใช้เมื่อ 9 กรกฎาคม 2552]
5. “การจัดการดินเหมืองแร่ร้าง”   จากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ.  <
http://www.sisaket.go.th/WEB_ldd/Soil/Page06.htm>  [นำมาใช้เมื่อ 13 ก.ค. 52]
6. วิรัตน์  ตันภิบาล. 2531. “ผลของระยะปลูกและอัตราปุ๋ยที่มีต่อการเจริญเติบโตของยูคาลิปตัสชนิดต่างๆ ที่ปลูกบนดินเหมืองแร่เก่า.”

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-25

เอกสารแนบ: ยูคาลิปตัส
 
 

Visitor Number
5282789
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]