“การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการเพื่อลดภาวะโลกร้อน”

สืบเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจที่กำหลังทรุดตัวลง  ปัญหาทางการเมืองที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หาข้อยุติไม่ได้  ยังต้องเผชิญกับปัญหาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 


รายละเอียดบทความ

“การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการเพื่อลดภาวะโลกร้อน”

  โดย กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม

                สืบเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจที่กำหลังทรุดตัวลง  ปัญหาทางการเมืองที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หาข้อยุติไม่ได้  ยังต้องเผชิญกับปัญหาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง  ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์  รวมไปถึงสารเคมีที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจก ในปัจจุบันมีปรากฏการณ์ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนปรากฏให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ  เช่น  สภาพอากาศที่ผิดแปลกไปจากเดิม  ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น  น้ำท่วม  อากาศร้อนผิดปกติ  รวมไปถึงโรคระบาดชนิดใหม่  อย่างไรก็ตามเราสามารถช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้  เช่น  การใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า  เพราะพลังงานต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนในการผลิต  แต่ละขั้นตอนในการผลิตจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมา   การปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน  เพราะต้นไม้เปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศให้กับโลก  แต่ทว่าปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายและมีจำนวนลดลงไปอย่างมาก  ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มเครื่องฟอกอากาศให้กับโลกของเรา


                ทรัพยากรแร่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศเป็นอย่างมาก  แต่ในการทำเหมืองแร่เพื่อนำแร่มาใช้ประโยชน์จะส่งผลให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป  แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วควบคู่ไปกับการทำเหมืองแร่ได้ สำหรับการปรับพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองที่มีลักษณะขั้นบันไดนั้นสามารถดำเนินการได้  ดังนี้


               1. ปรับระดับความสูงแต่ละขั้นและความลาดชันอยู่ในระดับที่ปลอดภัย 


               2. ทำการขุดบริเวณขั้นบันไดให้เป็นหลุมหรือขุดเป็นร่องขนาด 1.6 x 1.2 เมตร


               3. นำเปลือกดินและเศษหินที่เกิดจากการเปิดหน้าเหมืองมาถมกลับและทำการปรับปรุงคุณภาพดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อคลุมดินและตรึงไนโตรเจนให้แก่ดิน


               4. ทำการขุดหลุมเพื่อปลูกต้นไม้ แล้วนำปุ๋ยคอกมาผสมดินรองก้นหลุมปลูกเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินพร้อมทั้งใช้ สารอุ้มน้ำ  หรือ  ดินวิทยาศาสตร์ รองก้นหลุมร่วมกับปุ๋ยคอก  เพื่อให้ต้นไม้สามารถดูดน้ำจากสารอุ้มน้ำมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง


               5. นำต้นไม้ที่เตรียมไว้มาดำเนินการปลูก ซึ่งมีทั้งไม้ยืนต้นโตเร็วทรงสูง ไม้ทรงพุ่ม และ  พืชคลุมดินตระกูลหญ้า 

นอกจากนี้ในการปรับหน้าเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองที่มีความลาดชันสูงสามารถใช้พันธุ์ไม้เถาเลื้อยที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป  ไม้เถาเลื้อยสามารถนำมาปลูกเสริมไม้ยืนต้นได้ เนื่องจากเถาสามารถเลื้อยแผ่ปกคลุมพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการปลูกไม้ยืนต้นได้  ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายได้นำไม้เถาเลื้อยและพืชคลุมดินตระกูลหญ้ามาทดลองปลูกบริเวณหน้าเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว  ได้แก่


                 1) รางจืด  รางจืดเป็นไม้เถาเลื้อยที่รู้จักกันดีในทางยาสมุนไพรที่ช่วยขับพิษตกค้างในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ที่โดนวางยาเบื่อ นอกจากจะเป็นยาสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมายแล้ว  เรายังสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการเหมืองแร่ได้  เพราะรางจืดเป็นพืชที่สามารถแผ่ลำต้นหรือเถาปกคลุมพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย  ลำต้นหรือเถาจะมีลักษณะกลมเป็นข้อปล้องและแข็งแรงมาก  ชอบอาศัยพันเกาะเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ หรือก้อนหิน  สามารถนำลำต้นมาปลูกหรือที่เรียกว่าการปักชำ ในการปักชำนั้นต้องเลือกเถาที่แก่และให้มีตาติดอยู่ 2-3 ตา  ตัดยาวประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วนำไปชำในกระบะหรือถุงชำที่เตรียมไว้โดยปักให้เถาเอียงเล็กน้อย  แต่ถ้าหากปลูกในช่วงฤดูฝนสามารถนำไปปักชำในหลุมปลูกได้เลย  นอกจากการปักชำแล้วสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดได้ด้วย


                 2)  กระทกรก  กระทกรกเป็นพืชที่มีชื่อเรียกต่างๆมากมายตามท้องถิ่น เช่น รกช้าง หญ้ารกช้าง (ภาคใต้) ผ้าขี้ริ้วห่อทอง  ตำลึงทอง  ตำลึงฝรั่ง (ภาคตะวันออก)  เป็นต้น  กระทกรกเป็นไม้เถาเลื้อยลำต้นแตกแขนงไปตามพื้นดิน มีมือเกาะต้นไม้อื่น  เป็นพืชใบเดี่ยวสลับกัน ขอบใบเว้าเป็นสามแฉก ผิวใบมีขน  มีดอกสีขาว  ผลกลมเมื่อสุกจะมีสีเหลือง มีรกหุ้มสีเขียวอ่อน  ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด  เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป  กระทกรกนอกจากจะเป็นผักพื้นบ้านที่นำมารับประทานกับน้ำพริกแล้ว  ยังสามารถมาช่วยในเรื่องการฟื้นฟูสภาพหน้าเหมืองที่เป็นแนวขั้นบันไดที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว


                 3) ตีนตุ๊กแก  ตีนตุ๊กแกเป็นไม้เถาเลื้อยอยู่ในตระกูลไทร  ลำต้นเป็นเถา  รากออกตามข้อโดยเอาไว้สำหรับยึดเกาะ เลื้อยและดูดอาหารจากที่ยึดเกาะ ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจมีขนาดเล็ก  สีเขียวบางชนิดขอบใบจะมีสีขาว  ขอบใบหยักและมีปุ่มเล็กๆคล้ายตีนตุ๊กแก  ผิวใบสาก  ต้นตีนตุ๊กแกเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและดินปนทราย ชอบแสงแดดจัด  ขยายพันธุ์โดยการชำกิ่ง  สามารถเกาะและเกี่ยวพันกับหินได้ดี


                 4) พืชตระกูลหญ้า  หญ้ามีหลายชนิดหลายสายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติและการนำไปใช้ประโยชน์ต่างกันออกไป เช่น จัดสวน ปรับภูมิทัศน์ สนามกีฬา อาหารสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการหลายรายนำมาใช้ในการฟื้นฟูหน้าเหมืองหรือพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 


                ในการนำพืชตระกูลหญ้ามาปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วหรือพื้นที่ที่ต้องการปรับสภาพบริเวณอื่นๆก็ดี  ต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สามารถทนความร้อนได้ดี  ทนต่อสภาพอากาศที่แล้งและสามารถหาอาหารได้ดี  มีผู้ประกอบการเหมืองแร่หลายรายที่ทดลองนำหญ้าต่างๆเช่น  หญ้าลูซี่  หญ้าแฝก  หญ้าขนนก  มาปลูกในสถานประกอบการ  ปรากฏว่าได้ผลดี


นอกจากพืชทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวข้างต้นแล้วยังมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว  ซึ่งอาจเป็นพืชในท้องถิ่นหรือพืชที่สามารถขึ้นเองในบริเวณหน้าเหมืองหรือพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว 


               ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกของเราเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคน ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมๆกัน


 

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-25

เอกสารแนบ: การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการเพื่อลดภาวะโลกร้อน
 
 

Visitor Number
5235736
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]