สถานการณ์การแพร่กระจายความเค็มของน้ำและดิน บริเวณที่มีการทำเกลือสินเธาว์

ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาตากหรือต้มนั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วไหลของน้ำเค็มลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ และพื้นที่นาข้าวข้างเคียง ส่งผลให้ค่าความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและดินเพิ่มสูง


รายละเอียดบทความ

สถานการณ์การแพร่กระจายความเค็มของน้ำและดิน       บริเวณที่มีการทำเกลือสินเธาว์
ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552

   ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาตากหรือต้มนั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วไหลของน้ำเค็มลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ และพื้นที่นาข้าวข้างเคียง ส่งผลให้ค่าความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและดินเพิ่มสูง เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกได้น้อยกว่าปกติ และอาจนำไปสู่ปัญหาไม่สามารถทำการเกษตรได้ และเกิดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ตามมา สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามภารกิจงานของกพร.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินงานติดตามเฝ้าระวังการแพร่กระจายความเค็มลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำและดินเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ความเค็มของน้ำในลำห้วยธรรมชาติที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำเกลือสินเธาว์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้แก้ไขปัญหาต่อไป 


   การดำเนินการได้ทำการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำด้วยเครื่อง Water Quality Checker Model U10 ตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้า (conductivity) ในแหล่งน้ำตามจุดต่าง ๆ ค่าการนำไฟฟ้านี้สามารถใช้เป็นตัวชี้ระดับความเค็มของน้ำได้ ด้วยการเปรียบเทียบกับมาตรฐานการจำแนกชั้นคุณภาพน้ำสำหรับ การชลประทาน สำหรับการตรวจวัดความเค็มของดิน ดำเนินการเก็บตัวอย่างดินที่ระดับความลึก 15 เซนติเมตร จากผิวดิน นำมาตรวจวัดค่าความนำไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการ ค่าความนำไฟฟ้าที่ได้จะถูกนำมาจำแนกเป็นระดับความเค็มของดินได้ 4 ระดับ ดังนี้ ดินไม่เค็ม (0-2 มิลลิโมห์/เซนติเมตร) ดินเค็มน้อย (2-4 มิลลิโมห์/เซนติเมตร) ดินเค็มปานกลาง (4-8 มิลลิโมห์/เซนติเมตร) ดินเค็มมาก (8-16 มิลลิโมห์/เซนติเมตร)

ผลการตรวจวัดความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการทำเกลือสินเธาว์และบริเวณใกล้เคียง


   จากการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณใกล้เคียง ในเดือน พฤษภาคม และตุลาคม 2550 เดือนมีนาคม และ กรกฎาคม 2551 และ เดือนมีนาคม และกรกฎาคม 2552  ที่บริเวณพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์ 3 บริเวณ จำนวน 17 จุด ประกอบด้วย พื้นที่ทำเกลือบ้านสำโรง บริเวณลำเชิงไกร จำนวน 7 จุด พื้นที่ทำเกลือบ้านโพลไพลบริเวณห้วยน้อย จำนวน 6 จุด และพื้นที่ทำเกลือบ้านเสลา บริเวณห้วยวังรัง จำนวน 4 จุด สรุปได้ดังนี้


        1 พื้นที่นาเกลือบ้านวัง สภาพปัจจุบันเป็นนาเกลือร้างที่ยังไม่ได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ จากการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในลำห้วยค้างพลูซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง พบว่ายังคงมีการสะสมความเค็มในพื้นที่ดังกล่าวโดยค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 0.637-18.4  มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร ส่วนใหญ่มีค่าความเค็มอยู่ในระดับสูงมาก ไม่เหมาะกับการนำน้ำไปใช้ในการเกษตร

 
        2 พื้นที่นาเกลือบ้านสำโรง การทำเกลือในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ทำโดยวิธีต้ม มีการทำเกลือโดยวิธีตากอยู่น้อยมาก ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจำนวน 8 ราย อยู่ในบริเวณใกล้ลำห้วยลำเชิงไกร จากการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในลำห้วยดังกล่าว พบว่ามีค่าความนำไฟฟ้าตั้งแต่ตรวจวัดไม่ได้ จนถึง12.1  มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร โดยส่วนใหญ่มีค่าความเค็มสูง ไม่เหมาะกับการใช้ในเกษตรกรรม


        3. พื้นที่นาเกลือบ้านโพนไพล  การทำเกลือในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ทำโดยวิธีตาก การทำเกลือโดยวิธีต้มยังคงมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจำนวน 8 ราย ในบริเวณที่ใกล้ลำห้วยน้อย ซึ่งจากการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในลำห้วยน้อย พบว่ามีค่าความนำไฟฟ้าที่ตรวจวัดได้ตั้งแต่ตรวจวัดไม่ได้ถึง14.5 มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร ส่วนใหญ่มีค่าความเค็มสูงมากไม่เหมาะกับการใช้ในเกษตรกรรม

 
        4 พื้นที่นาเกลือบ้านเสลา มีการทำเกลือทั้งวิธีตากและวิธีต้ม ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจำนวน 3 ราย  ในบริเวณใกล้กับลำห้วยวังรัง และคลองชลประทานที่ขุดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการทำเกลือ ผลการตรวจวัดค่าความนำไฟฟ้าในแหล่งน้ำพบว่ามีค่าตั้งแต่ไม่สามารถตรวจวัดได้จนถึง5.85 มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร โดยค่าความเค็มส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร

การตรวจวัดความเค็มของดิน จากการตรวจวัดในเดือน กุมภาพันธ์ 2552  เป็นดังนี้ 


      1 พื้นที่นาเกลือบ้านหนองกก พบว่ามีการทำเกลือ 2 บริเวณ อยู่ใกล้เคียงกัน โดยบริเวณนี้มีการสร้างคันทำนบกั้นน้ำเค็มขนาดใหญ่ไว้ คันดังกล่าวอยู่ในสภาพดี แต่ยังคงพบร่องรอยของการรั่วซึมออกสู่ภายนอกโดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่นาเกลือด้านทิศตะวันออก สามารถสังเกตเห็นคราบเกลือบริเวณด้านนอกคันทำนบได้อย่างชัดเจน จากการตรวจวัดค่าความเค็มของดินในบริเวณดังกล่าว ในระยะห่างจากคันทำนบ  30, 60 และ 90 เมตร พบว่ามีค่าการนำไฟฟ้าได้เท่ากับ 30.4  12 และ 2.22 มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการแพร่กระจายความเค็มออกนอกพื้นที่ทำเกลือ ดังนั้นจึงควรมีการบดอัดคันทำนบด้านนี้ให้แน่นเพื่อป้องกันการซึมของน้ำเค็มออกนอกพื้นที่ (เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่นาเกลือบ้านหนอกก ดังนั้นจึงไม่มีการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในพื้นที่นี้)


     2 พื้นที่นาเกลือบ้านสำโรง พบว่ามีการทำเกลือ 2 บริเวณ คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ทำเกลือโดยวิธีต้มในพื้นที่ขนาดเล็ก ทั้งสองบริเวณมีคันทำนบป้องกันน้ำเค็มออกนอกพื้นที่ที่แข็งแรง แต่ยังพบการรั่วซึมของน้ำเค็มออกนอกพื้นที่เนื่องจากพื้นที่ทำเกลืออยู่ในที่สูงกว่าพื้นที่ข้างเคียง จากการสุ่มตรวจความเค็มของดินจำนวน 5 จุด ที่บริเวณพื้นที่ทำเกลือด้านทิศใต้ 2 จุด และด้านทิศเหนือ 3 จุด พบว่าพื้นที่ทำเกลือด้านทิศใต้บริเวณที่ติดกับพื้นที่ทำเกลือมีความเค็มสูงมาก วัดค่าการนำไฟฟ้าได้ 18.9 มิลลิโมห์/เซนติเมตร ถัดไปเป็นบริเวณพื้นที่สูงพบว่าเป็นดินไม่เค็ม วัดค่าการนำไฟฟ้าได้ 0.403 มิลลิโมห์/เซนติเมตร แสดงว่ามีการสะสมตัวของเกลือเฉพาะบริเวณที่ลุ่มเท่านั้น อาจเกิดจากน้ำบาดาลเค็มยกระดับถึงผิวดินบริเวณที่ลุ่มซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการแพร่กระจายความเค็มจากพื้นที่ทำเกลือข้างเคียง ส่วนพื้นที่ทำเกลือด้านทิศเหนือ พบว่ามีความเค็มสูงมากทั้ง 3 จุด วัดค่าการนำไฟฟ้าได้ 10.1-23.0 มิลลิโมห์/เซนติเมตร เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มจึงมีแหล่งความเค็มมาจากทั้งธรรมชาติและการทำเกลือดังกล่าวข้างต้น 

 
     3 พื้นที่นาเกลือบ้านโพนไพล จากการตรวจสอบพื้นที่ทำเกลือบ้านโพนไพล พบว่ามีการทำคันทำนบป้องกันน้ำเค็มออกนอกพื้นที่ที่แข็งแรง แต่ยังคงมีการรั่วซึมของน้ำเค็มออกสู่ภายนอกได้ในบางบริเวณ และจากการเก็บตัวอย่างดินนำมาวิเคราะห์หาความเค็มจำนวน 4 จุด โดยแบ่งเป็น บริเวณคันทำนบด้านทิศเหนือซึ่งมีการปลูกข้าวติดกับพื้นที่นาเกลือ จำนวน 2 จุด และบริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบต่ำกว่าพื้นที่นาเกลือซึ่งน้ำเกลือมีโอกาสแพร่กระจายได้สูง จำนวน 2 จุด ผลการวิเคราะห์ความเค็ม พบว่า บริเวณด้านทิศเหนือมีความเค็มอยู่ในช่วง 6.2-18.7 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มมาก โดยมีความเค็มสูงสุดที่บริเวณใกล้ขอบพื้นที่นาเกลือ ส่วนด้านทิศตะวันออกมีความเค็มอยู่ในช่วง 19.9-31.8 มิลลิโห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มมากเช่นกัน โดยมีความเค็มมากกว่าบริเวณแรก เนื่องจากมีระดับต่ำกว่าและน้ำเกลือสามารถแพร่กระจายมายังบริเวณนี้ได้และสภาพเดิมที่เป็นดินเค็มอยู่แล้ว


     4 พื้นที่นาเกลือบ้านเสลา จากการตรวจสอบพื้นที่ทำเกลือบ้านเสลา พบว่ามีการทำคันทำนบป้องกันน้ำเค็มออกนอกพื้นที่ที่แข็งแรง แต่มีการรั่วซึมของน้ำเค็มออกสู่ภายนอกได้บ้างเนื่องจากมีการกักเก็บน้ำเค็มในปริมาณมากประกอบกับพื้นเป็นดินทรายทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำได้ จากการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาความเค็มจำนวน 8 จุด โดยแบ่งเป็น 3 บริเวณ บริเวณแรกเป็นนาเกลือของนายสุพจน์ ถิรเศรษฐ์ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจำนวน 3 จุด คือ ที่ขอบคันทำนบด้านนอก 1 จุด และระยะห่างจากขอบคันทำนบประมาณจุดละ 30 เมตร อีก 2 จุด ผลการวิเคราะห์ความเค็ม พบว่าบริเวณใกล้ขอบคันทำนบมีค่าความนำไฟฟ้า 44.6 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มมาก ขณะที่ห่างออกไป มีค่าเท่ากับ 11.0 และ 9.8 มิลลิโมห์/เซนติเมตร ซึ่งมีความเค็มลดลงตามลำดับ แต่ยังคงจัดเป็นดินเค็มมาก บริเวณที่ 2 เป็นนาเกลือของนายอาชวิน กุลธนนนันท์ ได้ทำการสุ่ม เก็บตัวอย่างเช่นเดียวกับบริเวณแรก พบว่าบริเวณใกล้ขอบคันทำนบมีค่าความนำไฟฟ้า 24.6 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มมาก ขณะที่ห่างออกไป มีค่าเท่ากับ 11.5 และ 5.18 มิลลิโมห์/เซนติเมตร ซึ่งจัดเป็นดินเค็มมากและเค็มปานกลาง ตามลำดับ และบริเวณที่ 3 เป็นนาเกลือของนายมงคล เชื้อเงิน ได้ทำการสุ่ม เก็บตัวอย่างเช่นเดียวกับบริเวณแรก พบว่าบริเวณใกล้ขอบคันทำนบมีค่าความนำไฟฟ้า 36.6 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มมาก ขณะที่ห่างออกไป มีค่าเท่ากับ 18.4 มิลลิโมห์/เซนติเมตร ซึ่งจัดว่าเป็นดินเค็มจัดเช่นกัน จากข้อมูลที่สุ่มตรวจทั้ง 3 บริเวณแสดงให้เห็นว่า การทำเกลือทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มออกนอกพื้นที่ได้ และแพร่กระจายได้ไกลเกินกว่า 60 เมตร เนื่องจากมีการกักเก็บน้ำเค็มในบ่อเก็บกักไว้เป็นปริมาณมากทำให้เกิดการรั่วซึมออกนอกคันทำนบและแพร่กระจายด้วยน้ำฝนลงในบริเวณที่ลุ่ม


สรุปและข้อเสนอแนะ

      จากผลการตรวจวัดความเค็มของดินและน้ำในลำห้วยธรรมชาติบริเวณที่มีการทำเกลือสินเธาว์ทั้ง 4 บริเวณ ระหว่างปี 2550-2552 สรุปได้ดังนี้

      ความเค็มในแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียงกับพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์
 จากข้อสันนิษฐานที่ว่า น้ำเกลือจากการทำเกลือสินเธาว์อาจซึมลงใต้ดิน และอาจไปปรากฏยังบริเวณที่ลุ่ม เช่น ตามลำห้วยธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากตรวจสอบความเค็มของแหล่งน้ำธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำเกลือ 3 บริเวณ คือ บ้านสำโรง บ้านโพนไพล และบ้านเสลา ไม่พบว่าการทำเกลือส่งผลกระทบไปถึงลำห้วยดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำในลำห้วยดังกล่าวเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติอยู่โดยตรวจพบค่าความเค็มสูงตลอดลำห้วย สาเหตุน่าจะมาจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ดินเค็ม เกลือที่อยู่ในดินละลายลงแหล่งน้ำส่งผลให้ค่าความเค็มสูงขึ้น นอกจากนี้ความแห้งแล้งในพื้นที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเค็มสูงอย่างมากซึ่งผลจากการสำรวจสภาพแหล่งน้ำพบว่า น้ำในลำห้วยดังกล่าวจะมีปริมาณน้อยมากและขังเป็นช่วงๆ ซึ่งเมื่อมีความเค็มสูงทำให้ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตรกรรม  อย่างไรก็ตามการทำเกลือที่บ้านเสลาน่าจะส่งผลกระทบต่อคลองชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง โดยน้ำเค็มได้รั่วซึมและไหลลงไปยังคูน้ำของเกษตรกรและไหลต่อไปยังคลองชลประทานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้น้ำบริเวณนี้มีความเค็มสูง

การแพร่กระจายความเค็มออกสู่พื้นที่ข้างเคียง


     จากการสุ่มตรวจวัดความเค็มของดินบริเวณที่ติดกับนาเกลือ พบว่าน้ำเกลือสามารถรั่วซึมออกสู่ภายนอกได้ และการแพร่กระจายในหลายบริเวณไปได้ไกลจากขอบพื้นที่ทำเกลือมากกว่า 60 เมตร ซึ่งขึ้นกับสภาพภูมิประเทศ หากบริเวณข้างเคียงเป็นที่ลุ่มการแพร่กระจายจะออกไปได้ไกลมาก แต่หากบริเวณข้างเคียงเป็นที่ดอนจะไม่พบการแพร่กระจายของความเค็ม สำหรับบริเวณที่ได้รับผลกระทบจะปรากฏคราบเกลืออย่างชัดเจน ซึ่งผลการตรวจวัดพบว่าเป็นดินเค็มจัด ขณะที่ห่างออกไปความเค็มจะลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ดีคราบเกลือที่ปรากฎในที่ลุ่มบางบริเวณไม่ได้มาจากการทำเกลือ แต่เกิดจากการที่ระดับน้ำเค็มใต้ดินสูงขึ้นและนำเกลือขึ้นมายังบริเวณดังกล่าวซึ่งมักจะพบเห็นได้ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา


ข้อเสนอแนะ

     เนื่องจากเกิดปัญหาการรั่วซึมของน้ำเกลือออกสู่พื้นที่ภายนอกซึ่งทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่ดินเค็ม จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากเงื่อนไขในการอนุญาต ดังนี้


 1. ควรมีแนวกันชนระหว่างพื้นที่นาข้าวและพื้นที่นาเกลือ โดยรอบพื้นที่ทำเกลือไม่น้อยกว่า 20 เมตร


 2. ไม่ควรกักเก็บน้ำเค็มในพื้นที่ทำเกลือ เนื่องจากอาจล้นคันทำนบในช่วงฤดูฝนหรือรั่วซึมผ่านคันทำนบออกสู่พื้นที่ข้างเคียงได้ และควรเร่งระบายน้ำเกลือลงใต้ดินให้หมดก่อนสิ้นฤดูผลิต


 3. ควรสูบน้ำจากคูน้ำจืดด้านนอกคันทำนบเข้ามายังพื้นที่นาเกลืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมความเค็มและการแพร่กระจายความเค็มออกสู่นาข้าวข้างเคียง


 4. ปรับปรุงคันทำนบดินโดยรอบพื้นที่ทำเกลือให้สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำเค็มได้ โดยการเสริมแกนพลาสติก หรือทำแกนดินเหนียวบดอัดแน่น ทั้งนี้ควรมีระบบตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำเค็มไม่ให้ออกนอกพื้นที่ด้วย


 5. เนื่องจากการทำนาเกลือมักก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายดินเค็ม ทำให้ชาวนาข้าวได้รับความเดือดร้อน และมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่การพิสูจน์แหล่งที่มาของเกลือไม่สามารถทำได้และไม่ทราบว่ามีการแพร่กระจายไปไกลเท่าใด จึงควรจัดทำโครงการศึกษาการแพร่กระจายดินเค็มอันเนื่องมาจากการทำเกลือสินเธาว์โดยละเอียด โดยใช้เทคนิคและวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบอัตราการแพร่กระจายเพื่อจะได้หาวิธีการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-26

เอกสารแนบ: สถานการณ์การแพร่กระจายความเค็มของน้ำและดิน บริเวณที่มีการทำเกลือสินเธาว์
 
 

Visitor Number
5288966
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]