พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่

อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่นั้นนอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลแล้วนั้น ยังสร้างผลกระทบให้กับสภาพแวดล้อมทั้งในบริเวณพื้นที่เหมืองแร่และบริเวณโดยรอบพื้นที่เหมืองแร่มากน้อยแตกต่างกันไปตามประเภทการทำเหมืองและชนิดของแร่ 


รายละเอียดบทความ

  พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ 

โดย กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม

        อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่นั้นนอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลแล้วนั้น ยังสร้างผลกระทบให้กับสภาพแวดล้อมทั้งในบริเวณพื้นที่เหมืองแร่และบริเวณโดยรอบพื้นที่เหมืองแร่มากน้อยแตกต่างกันไปตามประเภทการทำเหมืองและชนิดของแร่  ดังนั้นในการทำเหมืองแร่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทำเหมืองแร่ให้กลับสู่สภาพเดิมหรือมีความใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแนวทางการปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วนั้นก็มักจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นสวนสาธารณะ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เป็นสวนป่าหรือป่าทดแทน เป็นที่ฝังกลบขยะ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการที่จะฟื้นฟูหรือปรับปรุงสภาพพื้นที่นั้นต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาการทำเหมือง นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณพื้นที่เหมืองแร่แล้วยังช่วยลดปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการสร้างทัศนียภาพที่ดีแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่เหมืองแร่ได้อีกทางหนึ่ง 

   พื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วนั้น จะมีสภาพเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช จึงทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้หากไม่มีการดูแลรักษา ดังนั้นในการเลือกพืชที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกพืชที่มีความทนต่อสภาวะที่แห้งแล้ง  มีการเจริญเติบโตเร็ว  ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นพืชท้องถิ่น ที่พบเห็นได้ทั่วๆไปในพื้นที่ หรือพืชที่โตเร็วไม่ต้องดูแลรักษามาก


   ในการปลูกพืชจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพรรณพืชกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยเฉพาะในเรื่องของการลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบ คือ ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและเสียงดังจากกิจกรรมต่างๆในการทำเหมืองและจากการขนส่ง  ดังนั้นพืชที่จะนำมาปลูกนอกจากจะคำนึงถึงการเจริญเติบโตของพืช ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งแล้วนั้น ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของพืชในการที่จะช่วยดักจับฝุ่นละอองและช่วยลดระดับความดังของเสียงด้วย

ลักษณะของพืชที่เหมาะสม

   1. เป็นพืชท้องถิ่น คือ พืชดั้งเดมของท้องถิ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศและดินมากกว่าพืชที่นำเข้ามาจากที่อื่น ๆ  ทำให้โอกาสรอดตายสูงกว่าพืชที่นำมาจากท้องถิ่นอื่นเมื่อนำมาปลูกในเหมืองแร่


   2. เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  โตเร็ว ทนแล้ง ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก ไม่ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากในพื้นที่เหมืองแร่จะมีความแห้งแล้ง ขาดการดูแลรักษา และจะช่วยให้เหมืองแร่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว


   3. เป็นพืชที่ใบมีขนาดใหญ่ มีใบมาก หรือใบมีขน เพราะถ้าใบของพืชยิ่งมีขนาดใหญ่  และมีปริมาณมาก หรือมีขนปกคลุม ก็จะยิ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่

   1. พญาสัตบรรณ
         พญาสัตบรรณ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris (L.) R.Br.) หรือเรียกทั่วๆไปว่า ตีนเป็ด เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่สูง 15 – 30 เมตร  ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้นๆ ใบเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง  ช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5-7 ใบ เป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง ดูแลรักษาง่าย และทนแล้งได้เป็นอย่างดี

   2. กระถินเทพา
         กระถินเทพา หรือ กระถินบาร์ซาห์  (ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia mangium Willd) เป็นไม้ยืนต้นโตเร็ว อายุ 14 ปี สูงได้ถึง 30 เมตร ใบมีขนาดใหญ่  ลักษณะลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน ทนต่อความแห้งแล้ง และสภาพดินที่เป็นกรด ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ได้ดี  เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ก่อให้เกิดความเขียวชอุ่มตลอดปี จึงนิยมปลูกในสวนป่า

   3. กระถินณรงค์ 
         กระถินณรงค์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia auriculiformis Cunn.) เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีความสูง 8 เมตร ไปจนถึง 20 เมตร  เป็นไม้โตเร็ว ปลูกง่าย  นิยมปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะใช้เป็นพืชเบิกนำในการปลูกป่าในพื้นดินเสื่อมโทรม  เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงมีระบบรากที่สามารถสะสมไนโตรเจนได้  และยังทนแล้ง ทนน้ำท่วมขังแฉะอีกด้วย  นอกจากนั้นยังใช้เป็นไม้ฟืนเชื้อเพลิง และประโยชน์อื่นๆ เช่น เผาถ่าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษได้ด้วย

   4. สนประดิพัทธ์
         สนประดิพัทธ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Casuarina junghuhniana Miq.) ไม้ต้นโตเร็ว ขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ  สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียวซึ่งมีความเป็นกรด เป็นด่าง pH 2-8  ใช้เป็นพืชเบิกนำในการปลูกป่าในพื้นดินเสื่อมโทรม  เนื่องจากรากของไม้สนจะมีปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว และยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว

   5. สีเสียดแก่น
         สีเสียดแก่น (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia catechu  Willd.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร ไม่ผลัดใบ พบในป่าโปร่งและป่าเบญจพรรณ โดยมากมักปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในสภาพดินที่เสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นไม้ที่โตเร็ว ขึ้นได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง และภูเขาหิน


   6. หญ้าแฝก
         หญ้าแฝก (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vetiveria Zizanioides Nash) เป็นพืชขึ้นแน่นเป็นกอ และมีระบบรากหยั่งลึกและแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เหมือนกำแพง จึงเหมาะในการใช้ในการยึดดินป้องกันการพังทลายของดิน อีกทั้งยังช่วยเก็บความชื้นของดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถปลูกเป็นแนวป้องกันตะกอนดิน และกรองของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในน้ำ รากของหญ้าแฝกมีความแข็งแรง สามารถหยั่งรากลงไปในเนื้อดินดาน ซึ่งเป็นดินที่มีความแข็งคล้ายหิน ทำให้ดินแตกร่วนซุย เป็นการเพิ่มความชื้นในดินได้อีกทางหนึ่ง จึงเหมาะแก่การนำมาปลูกในพื้นที่เหมืองบริเวณขอบบ่อ หรือบริเวณที่มีการพังทลายของดินมาก

   7. อโศกอินเดีย
         อโศกอินเดีย หรือ อโศกเซนต์คาเบรียล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Polyalthia longifolia) เป็นไม้ยืนต้นสูง มีลักษณะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปปิรามิดแคบ ๆ สูงเต็มที่ได้ถึง 25 เมตร กิ่งโน้มลู่ลงทั้งต้น ทำให้แลดูต้นสูงชะลูด  สามารถสูงได้เกินกว่า 30 ฟุต เหมาะที่จะปลูกเป็นแนวขอบเขตพื้นที่ เพื่อช่วยบังลม บังสายตา 


      อย่างไรก็ตามในการเลือกชนิดพรรณพืชมาปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ หรือบริเวณโรงโม่หิน ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของพรรณพืชกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น นำมาปลูกเพื่อสร้างทัศนียภาพที่ดี เพื่อความสวยงามบริเวณสำนักงาน เพื่อเป็นแนวกันชน (Buffer zone) เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน หรือเพื่อเป็นสวนป่าหลังจากทำเหมืองแล้ว เป็นต้น  ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วหากผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ให้กลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม จะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งในบริเวณเหมืองแร่ และชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-25

เอกสารแนบ: พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่
 
 

Visitor Number
5288266
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]