5ส กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่

การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้ยั่งยืนมีความจำเป็นต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปกับการทำเหมือง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและลดความเดือดร้อนรำคาญต่อชุมชน  โดยการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาใช้ 


รายละเอียดบทความ

5ส กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่


กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

        การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้ยั่งยืนมีความจำเป็นต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปกับการทำเหมือง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและลดความเดือดร้อนรำคาญต่อชุมชน โดยการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาใช้  ซึ่ง 5ส  เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีการนำมาใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในสถานประกอบการเหมืองแร่ให้เกิดบรรยากาศที่ดี        มีความปลอดภัยในการทำงาน ลดความสูญเสียที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้เป็นอย่างดี 


        5ส คือ การจัดระเบียบในที่ทำงานหรือสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดสภาพการทำงานที่ดี  มีความปลอดภัย  และเป็นระเบียบเรียบร้อย  อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ซึ่ง 5ส ประกอบด้วยหลักการที่สำคัญ         5  ประการ  คือ
            1. ส สะสาง คือ การแยกของที่จำเป็นออกจากของที่ไม่จำเป็น  และขจัดของที่ไม่จำเป็นออกไป โดยการปฏิบัติ ส สะสาง ผู้ปฏิบัติจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งของที่ใช้ในงานประจำวันนั้น ของสิ่งใด  จำเป็น  ของสิ่งใดไม่จำเป็น 
            2. ส สะดวก คือ การจัดวางหรือจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ในสถานทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อประสิทธิภาพ  คุณภาพ  และความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่ง ส สะดวกถือเป็น ส ที่สำคัญข้อหนึ่งในการปฏิบัติกิจกรรรม 5ส โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ตั้งแต่การจัดหมวดหมู่  สิ่งของให้เป็นระบบระเบียบ การประยุกต์ใช้สัญลักษณ์สี  การทำป้ายชี้บ่ง การทาสีตีเส้นบริเวณพื้น เพื่อแบ่งแยกพื้นที่จัดวางอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องมือ รวมทั้งการจัดวางสิ่งของระหว่างกระบวนการผลิต
            3. ส สะอาด คือ การทำความสะอาด (ปัด กวาด เช็ด ถู)  และตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ  อุปกรณ์  รวมทั้งบริเวณสถานที่ทำงานซึ่ง ส สะอาด เป็น ส  ที่คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเวลากล่าวถึง 5ส และทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการทำ 5ส  คือ การทำความสะอาด  แต่ที่ถูกต้องแล้ว  สะอาดในความหมายของ 5ส  ไม่ใช่แค่เพียงแต่การปัด กวาด เช็ด ถู แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบด้วย
            4.ส สุขลักษณะ คือ การรักษามาตรฐานการปฏิบัติ 3ส แรกที่ดีไว้ และยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น  ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  โดยการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะเกิดขึ้นได้จะต้องเริ่มจากการมีมาตรฐานการปฏิบัติ 5ส ที่มีแบบแผนชัดเจน จากนั้นก็พัฒนาปรับปรุงมาตรฐานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานจะต้องทำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพราะหากกำหนดมาตรฐาน ไม่เหมาะสมแล้ว จะทำให้สมาชิกในพื้นที่เกิดการต่อต้านและไม่ปฏิบัติตามในที่สุด
           5. ส สร้างนิสัย  คือ การปฏิบัติตามมาตรฐาน 5ส และระเบียบ  กฎเกณฑ์ของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติหรือโดยธรรมชาติ ซึ่ง ส ตัวที่ 5 นี้ เป็นสิ่งที่ทุก ๆ องค์กรต้องการไปให้ถึง แต่การที่จะไปถึงขั้นนี้ไใด้เป็นสิ่งที่ยาก และต้องอาศัยความพยามยามอย่างต่อเนื่อง หากองค์กรใดสามารถทำให้พนักงานอยู่ในขั้นสร้างนิสัยได้แล้ว ถือว่าองค์กรนั้นประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม 5 ส และทำให้กิจกรรม 5ส ยั่งยืนตลอดไป

        สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 5ส จัดเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมที่สามารถนำมาใช้ในการ ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานประกอบการได้ เนื่องจาก 5ส เป็นกิจกรรมที่สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยุ่งยาก มีระบบการดำเนินงานที่ง่ายและไม่ซับซ้อนจนเกินไป ใช้งบประมาณต่ำ และสามารถเห็นผลจากการดำเนินกิจกรรม 5ส ได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลผลิตในการทำเหมืองได้ด้วย สิ่งสำคัญในการดำเนินกิจกรรม 5ส  คือ ความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยผู้บริหารระดับสูงต้องมีความตั้งใจจริง เอาใจใส่และติดตามกำกับดูแลการทำกิจกรรม 5ส อย่างจริงจัง รวมทั้งมีการกระตุ้น รณรงค์ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่อง 5ส ตลอดเวลา ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถดำเนิน        กิจกรรม 5ส ได้อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของท่าน โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และทำให้การพัฒนาเหมืองแร่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับของสังคม นอกจากนี้ เมื่อทำกิจกรรม 5ส ซึ่งเป็นระบบการจัดการเบื้องต้นได้เป็นอย่างดีแล้ว จะสามารถพัฒนาไปสู่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นสากลอื่นๆ ได้โดยไม่ยากต่อไป

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-26

เอกสารแนบ: 5ส กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่
 
 

Visitor Number
5238048
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]