การทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย

ความเป็นมา
  บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ทองคำในเขตพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำ


รายละเอียดบทความ

การทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย

โดย นายอนุ  กัลลประวิทย์
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม


ความเป็นมา


   บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ทองคำในเขตพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 19 กรกฏาคม 2532 ซึ่งต่อมาบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่จำนวน 6 แปลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 (คำขอประทานบัตรที่ 62-67/2538) และได้จัดทำแผนผังโครงการทำเหมืองเสนอต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร. หรือ กรมทรัพยากรธรณีเดิม) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 พร้อมทั้งได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา (บริษัท เอส. พี. เอส. คอนซัลติ้งเซอร์วิส จำกัด) เป็นผู้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ซึ่งได้รับความเห็นชอบ เมื่อวันที่  23 ธันวาคม 2541 และได้รับอนุญาตเป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ จำนวน 6 แปลง ในพื้นที่ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ  1,290 ไร่ ประทานบัตรมีอายุ  25 ปี โดยประทานบัตร 3 แปลงมีอายุตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2546-26 กันยายน 2570 และอีก 3  แปลงมีอายุตั้งแต่ 23 มกราคม 2546-22 มกราคม 2571 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำตั้งแต่วันที่               11 กันยายน 2549 เป็นต้นมา


การดำเนินการ


   หลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัดได้รับอนุญาตเปิดการทำเหมือง เมื่อ          วันที่ 11 กันยายน 2549 จำนวน 5 แปลง บริเวณภูทับฟ้า และอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ที่ตั้งอยู่ในเขตประทานบัตร 5 แปลง เมื่อวันที่ 14 กันยาน 2549 ส่วนประทานบัตรอีกแปลงหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่ภูซับบอน ห่างจากภูทับฟ้าประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ อนุญาตให้เปิดการทำเหมืองได้เมื่อวันที่  14 กันยายน 2551 การทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณภูทับฟ้า   และภูซับบอน เป็นการทำเหมืองแร่โดยวิธีเหมืองหาบ ลักษณะการทำเหมืองเป็นแบบขั้นบันได ความสูงของขั้นบันไดไม่เกิน 6 เมตร การทำเหมืองดังกล่าวจะมีการใช้วัตถุระเบิดเพื่อระเบิดหินปนแร่ออกมา แล้วนำหินปนแร่ดังกล่าวไปคัดแยกแร่ทองคำออกเป็นการแยกทองคำจากสินแร่ ส่วนของการประกอบโลหกรรมกระทำโดยการนำหินปนแร่ไปบดย่อยให้มีขนาดเล็ก แล้วใช้สารไซยาไนต์ทำการสกัดทองคำจากสินแร่ โดยควบคุมให้สภาพสารละลายไซยาไนต์ให้เป็นด่างอยู่เสมอ จากนั้นก็นำผงถ่านไปจับทองคำที่อยู่ในสารละลาย แล้วทำการหลอมทองคำที่ได้ให้เป็นก้อนมีน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัม ส่วนของไซยาไนต์ในระบบการประกอบโลหกรรมจะไม่มีการระบายออกสู่ภายนอก โดยในกระบวนการประกอบโลหกรรมที่ได้รับอนุญาตนี้จะใช้วิธี inco process ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะมีการสกัดสารไซยาไนต์ที่ใช้ นำกลับไปใช้ใหม่หมุนเวียนเพื่อเป็นการใช้สารให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยระบบสามารถนำสารไซยาไนต์ที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ถึง 90 เปอร์เซนต์ และน้ำที่ปล่อยออกจากระบบเพื่อนำไปเก็บกักไว้ในบ่อกักเก็บนั้นจะต้องมีความเข้มข้นของสารไซยาไนต์ ไม่เกินค่าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด กากแร่ต่างๆ ที่มีการปนเปื้อนสารไซยาไนต์นี้จะถูกเก็บกักไว้ในบ่อกักเก็บเช่นเดียวกัน และจะต้องพยายามทำให้กากแร่ดังกล่าวแห้งเพื่อที่ให้สารไซยาไนต์สลายตัวไปตามธรรมชาติ ส่วนของบ่อกักเก็บตะกอนแร่นี้จะทำการบดอัดแน่น และปูด้วยพลาสติก (HPDP) เพื่อป้องกันการรั่วซึมของสารไซยาไนต์หรือโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสินแร่เข้าสู่ทางน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ในระบบยังมีมาตรการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของสารไซยาไนต์หรือโลหะหนักดังกล่าวสู่ทางน้ำใต้ดิน โดยบริษัทจะต้องทำการตรวจวัดค่าปริมาณสารไซยาไนต์และโลหะหนักอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังได้ทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินโดยรอบพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่ เพื่อให้ทราบว่ามีการปนเปื้อนของมลพิษต่างๆ ออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่ ทั้งนี้การติดตามตรวจสอบดังกล่าวได้ บริษัทจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด

ปัญหาการทำเหมืองแร่


   จากการดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ปรากฏว่ามีสื่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 และสถานีโทรทัศน์ไทย พี. บี. เอส. รายการเปิดปมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2551 ได้รายงานว่า การทำเหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ประกอบการทำเหมือง เนื่องจากมีการปนเปื้อนของสาร    ไซยาไนต์ ออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ (ห้วยน้ำฮวย) เกินค่ามาตรฐานมากกว่า 10 เท่า ต้นยางพาราที่ประชาชนปลูกมีโรค รา แมลง และ ใบหงิกงอ ผลผลิตตกต่ำ ตลอดจนทำให้สุขภาพของประชาชนใกล้เคียงมีอาการผื่นคันขึ้นตามตัว และไม่สามารถดื่มน้ำฝนได้ คาดว่ามีผลจากการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  มีโครงการจะเปิดพื้นที่ทำเหมืองอีก 30,000 ไร่ ดังนั้นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่มีขึ้น

การดำเนินการแก้ไขปัญหา


   ในปี พ.ศ. 2550  จากกรณีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นั้น จังหวัดเลยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลแบบมีส่วนร่วม จำนวน 5 คณะ จำนวน 116 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ในด้านข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย และการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด   นอกจากนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน   ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อยู่อย่างสม่ำเสมอ   


    สำหรับกรณีของสถานีโทรทัศน์ไทย พี. บี. เอส. ในปี พ.ศ. 2551         กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการตรวจสอบร่วมที่จังหวัดเลยแต่งตั้ง ผลสรุปคณะกรรมการตรวจสอบร่วมเห็นว่าเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  จึงให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จะทำการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง


   และจากการเก็บตัวอย่างน้ำ และตรวจวัดเสียงและฝุ่น บริเวณโดยรอบประทานบัตรเหมืองแร่ ทองคำ จำนวน 11 จุด (รวมตัวอย่างน้ำฝน) ทำการวิเคราะห์หาปริมาณไซยาไนต์ เมื่อวันที่ 23-30 มิถุนายน 2551   ผลปรากฏว่าคุณภาพน้ำ  ระดับเสียง และปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน


  ส่วนพืชผลทางการเกษตรและสุขภาพของประชาชนเห็นควรให้ สาธารณสุขจังหวัด และเกษตรจังหวัด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้บริษัทฯ ประชาสัมพันธ์ผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบต่อไป             ส่วนเรื่องที่ข่าวระบุว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะเปิดพื้นที่ทำเหมืองทองคำอีกจำนวน 30,000 ไร่ นั้น ความจริงเป็นการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่ 30,000 ไร่ เพื่อสำรวจตรวจสอบว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเหมืองแร่ทองคำต่อไปเท่านั้น ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่เพิ่มเติมแต่อย่างใด


   ทั้งนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มีนโยบายให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคได้ร่วมตรวจสอบการทำเหมืองแร่ กับคณะกรรมการตรวจสอบร่วมกับจังหวัดเลยอย่างต่อเนื่องของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
สรุป


   การทำเหมืองทองคำที่ดำเนินการทำเหมืองโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด       ที่จังหวัดเลยนั้น เป็นการทำเหมืองในพื้นที่ที่ได้ขออนุญาตจาก             กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนโดยรอบมีความเข้าใจว่าการทำเหมืองของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง ซึ่งจากการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องพบว่า การทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวเป็นการทำเหมืองแร่ในระบบปิดไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก และยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษจากระบบออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น   การทำเหมืองดังกล่าวมีความปลอดภัย   และมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและสามารถลดผลกระทบได้  ควรมีความโปร่งใสกับประชาชนให้สามารถเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลาเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจที่ดีในการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-26

เอกสารแนบ: การทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย
 
 

Visitor Number
5282942
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]