การศึกษาดินเค็มในพื้นที่ทำเกลือนครราชสีมา

สภาพปัญหา การทำเกลือสินเธาว์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา มักก่อปัญหาในเรื่องการแพร่กระจายความเค็มออกนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบปล่อยน้ำเค็มลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม หรือการรั่วซึมของน้ำเกลือผ่านคันทำนบโดยไม่ได้ตั้งใจ ล้วนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม


รายละเอียดบทความ

การศึกษาดินเค็มในพื้นที่ทำเกลือนครราชสีมา


กลุ่มที่ปรึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

   สภาพปัญหา การทำเกลือสินเธาว์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา มักก่อปัญหาในเรื่องการแพร่กระจายความเค็มออกนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบปล่อยน้ำเค็มลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม หรือการรั่วซึมของน้ำเกลือผ่านคันทำนบโดยไม่ได้ตั้งใจ ล้วนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม ทำการเกษตรไม่ได้ เกิดการร้องเรียนตามมาอย่างมากมาย แต่เนื่องจากสภาพธรรมชาติในพื้นที่ซึ่งมักปรากฏว่ามีปัญหาดินเค็มอยู่แล้ว จึงเกิดปัญหาว่าไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ว่าการทำเกลือทำให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มมากน้อยเพียงใด ดังนั้น สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในฐานะที่ดูแลการประกอบการด้านนี้จึงได้ทำการศึกษาในเบื้องต้นขึ้นเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป


   พื้นที่และวิธีการศึกษา พื้นที่ศึกษาครอบคลุมบริเวณที่มีการทำเกลือสินเธาว์ในปัจจุบัน 4 บริเวณ คือ บ้านหนองกก อำเภอขามทะเลสอ บ้านสำโรง อำเภอโนนไทย บ้านโพนไพล กิ่งอำเภอพระทองคำ และบ้านเสลา อำเภอโนนสูง พื้นที่ทั้งหมดประมาณ  3.1  ตารางกิโลเมตร การออกแบบการเก็บตัวอย่างจะกำหนดจุดที่บริเวณขอบคันทำนบและบริเวณที่ห่างจากคันทำนบออกไปทางด้านนอกของนาเกลืออีกประมาณ 30 -60 เมตร แล้วแต่พื้นที่โดยสังเกตจากคราบเกลือที่แพร่กระจายออกไป ทำการเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินถึงที่ระดับลึก 15 เซนติเมตร นำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยการตรวจวัดค่าความนำไฟฟ้า แล้วนำผลไปจำแนกระดับความเค็มตามตารางการจัดแบ่งระดับความเค็มต่อไป


   ผลการศึกษา พื้นที่บ้านหนองกก ทำการตรวจวัด 2 จุด มีค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 1.29-11.7 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินไม่เค็มและดินเค็มมาก ตามลำดับ ผลการตรวจวัดพบว่ามีการรั่วซึมของน้ำเกลือออกสู่พื้นที่ข้างเคียงในระยะประมาณ 20-30 เมตร หากไม่ป้องกันจะมีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น บริเวณบ้านสำโรง ทำการตรวจวัด 3 จุด ระยะห่างประมาณ 50 เมตร พบค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 5.50-29.6 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มปานกลางถึงดินเค็มมาก โดยพบว่ามีการรั่วซึมของน้ำเกลือเช่นกันแต่จะจำกัดในพื้นที่ลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ บริเวณบ้านโพนไพล ทำการตรวจวัด 3 บริเวณ จำนวน 6 จุด ในระยะประมาณ 20 เมตรจากคันทำนบ พบค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 2.75-14.45 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินเค็มน้อยถึงเค็มมาก โดยพบว่าบริเวณที่เป็นนาเกลืออยู่เดิมบริเวณใกล้คันทำนบจะมีดินเค็มจัดถัดไปความเค็มจะลดลงตามลำดับ ส่วนนาเกลือที่เกิดขึ้นใหม่จะมีคันทำนบค่อนข้างแข็งแรง ความเค็มบริเวณใกล้คันทำนบจะน้อย และบริเวณสุดท้ายคือบ้านเสลา ทำการตรวจวัด 3 บริเวณ จำนวน 9 จุด ในระยะประมาณ 60 เมตรจากคันทำนบ พบค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 0.894-12.70 มิลลิโมห์/เซนติเมตร จัดเป็นดินไม่เค็มน้อยถึงเค็มมาก โดยพบว่าบริเวณใกล้คันทำนบเป็นดินเค็มจัด ถัดไปเป็นดินเค็มปานกลางถึงดินไม่เค็มตามลำดับ แสดงถึงการรั่วซึมของน้ำเค็มจากคันทำนบได้


   สรุปและข้อเสนอแนะ  การศึกษาในเบื้องต้นพบว่าน้ำเกลือสามารถ รั่วซึมออกสู่ภายนอกได้ แต่การแพร่กระจายไม่น่าจะไกลจากขอบพื้นที่ทำเกลือมากนัก ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ในบริเวณที่มีความลาดเอียงสูงการแพร่กระจายจะไปได้ไกลขณะที่บริเวณที่ราบการแพร่กระจายจะไปไม่ไกลนัก อย่างไรก็ตามหากไม่มีการปรับปรุงระบบป้องกันการรั่วซึมของน้ำเค็ม จะทำให้ขอบเขตดินเค็มขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนคือการปรับปรุงคันทำนบให้ป้องกันการรั่วซึมของน้ำเค็มได้ โดยอาจจะใช้พลาสติกทำเป็นแกนของคันทำนบ การใช้ดินเหนียวบดอัดแน่น และการเร่งระบายน้ำเค็มลงใต้ดินก่อนสิ้นฤดูผลิตเกลือเพื่อลดการสะสมของเกลือในพื้นที่ พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำเค็มไม่ให้ออกนอกพื้นที่ด้วย โดยสำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพร้อมที่จะสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

ตารางแสดงการจัดแบ่งระดับความเค็มของดิน

ค่าการนำไฟฟ้า(มิลลิโมล์/เซนติเมตร)

การจัดระดับความเค็ม

0-2

ดินไม่เค็ม

2-4

ดินเค็มน้อย

4-8

ดินเค็มปานกลาง

8-16

ดินเค็มมาก

ที่มา : หนังสือปฐพีวิทยา เผยแพร่โดยกองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2525

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-26

เอกสารแนบ: การศึกษาดินเค็มในพื้นที่ทำเกลือนครราชสีมา
 
 

Visitor Number
5288613
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]