ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน

หลักธรรมาภิบาลที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 


รายละเอียดบทความ

ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน

โดย  กลุ่มกำกับและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม

 
   หลักธรรมาภิบาลที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  มีหลักพื้นฐาน 6 ประการดังนี้


1. หลักนิติธรรม (Rule of Law)  หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม  การบังคับใช้กฎหมาย  การกำหนด กฎ  กติกา  และการปฏิบัติตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด  โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมของสมาชิก


2. หลักคุณธรรม (Ethics) หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม  การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน  เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์  จริงใจ  ขยันอดทน มีระเบียบวินัย  ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ


3. หลักความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ  โดยการปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส


4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจ ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ  การประชาพิจารณ์  การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ


5. หลักสำนึกรับผิดชอบ (Accountability)  หมายถึง การตระหนักในสิทธิหน้าที่  ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง  และการกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนความเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลดี  และเสียจากการกระทำของตนเอง


6. หลักความคุ้มค่า (Value for Money) หมายถึง การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยให้มีองค์กรหรือประชาชนมีความประหยัดใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก  และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน


   สำหรับความหมายของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หมายถึง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบาย  ยุทธศาสตร์  แผน โครงการ และกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความโปร่งใส  มีความพร้อมรับผิด  มีนิติธรรม  เป็นที่คาดหมายได้  และมีความยุติธรรม


   สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เห็นว่าการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการจะช่วยสนับสนุนให้สถานประกอบการมีการดูแลสิ่งแวดล้อมสังคมและชุมชนดีขึ้น  และจะได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติเพื่อใช้เป็นเกณฑ์การประเมินดังนี้

หลักธรรมาภิบาล 
1. หลักนิติธรรม
แนวทางปฏิบัติ 
- มีกฎระเบียบที่ชัดเจน
- มีการปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมือง หรือเงื่อนไขในการอนุญาต  ตลอดจนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วิธีการปฏิบัติ 
- รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ เงื่อนไข ตลอดจนแผนผังโครงการในการอนุญาต
- เปิดเผยข้อมูลสถานประกอบการ ให้ชุมชน  และ/หรือโรงเรียนและ/หรือ วัด ทราบ

หลักธรรมาภิบาล
2. หลักคุณธรรม
แนวทางปฏิบัติ 
- มีความซื่อสัตย์ และเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม
วิธีการปฏิบัติ 
- มีการรณรงค์พนักงานให้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์  ขยัน  อดทน       - มีระเบียบวินัย  ประกอบอาชีพโดยสุจริต  เป็นตัวอย่างที่ดีต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ

หลักธรรมาภิบาล
2. หลักความโปร่งใส                                                                            แนวทางปฏิบัติ
- เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมก่อนและระหว่างดำเนินการ
วิธีการปฏิบัติ 
- มีข้อมูล อากาศ น้ำ เสียง ความสั่นสะเทือน ฯลฯ
- มีการแสดงข้อมูล อากาศ น้ำ เสียง ความสั่นสะเทือน ฯลฯ ณ สถานประกอบการและ/หรือโรงเรียน  และ/หรือ วัด และ/หรือ  ที่ทำการ อปท. สามารถตรวจสอบได้

หลักธรรมาภิบาล
4. หลักการมีส่วนร่วม
แนวทางปฏิบัติ 
- รับฟังความคิดเห็นสมาชิกในองค์กร และ/หรือ ประชาชน 
วิธีการปฏิบัติ
- มีการตกลงร่วมกันถึงข้อมูลที่ต้องการให้มีการแสดงต่อชุมชน
- ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ  ตลอดจนแสดงความคิดเห็นเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา

หลักธรรมาภิบาล
5. หลักสำนึกรับผิดชอบ
แนวทางปฏิบัติ 
- ความรับผิดชอบเมื่อกิจการก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- มีการรับพนักงานในท้องถิ่น 
วิธีการปฏิบัติ
- กำหนดแนวทางแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนและชัดเจนทุกกรณีและกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา
- แจ้งผลการแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชนทราบ
- รับพนักงานในท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

หลักธรรมาภิบาล
6. หลักความคุ้มค่า 
แนวทางปฏิบัติ
- มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตที่คุ้มค่าเหมาะสม
วิธีการปฏิบัติ 
- มีข้อมูลแสดงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือประหยัดวัตถุดิบ หรือประหยัดพลังงาน และ/หรือมีการนำหลัก 3R มาใช้ในองค์กร
 
   การดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2553 โดยมีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมโดยประกอบด้วยผู้แทนของกรมฯทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด คณะกรรมการฯจะลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆอาทิ เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาใช้  ตรวจประเมินและติดตามผลการดำเนินงาน ร่วมเยี่ยมชมสถานประกอบการ เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ จัดนิทรรศการ ให้ความรู้แก่ชุมชน มอบโล่และประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบการ

   จะเห็นได้ว่าการใช้หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางในการประกอบกิจการ  จะช่วยให้สถานประกอบการมีความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  และ มีการจัดการมลพิษที่เกิดจากการประกอบการให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการอนุญาต  มีการให้ความรู้แก่ชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมกับสถานประกอบการ มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้ชุมชนทราบในกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน  และชุมชนเป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นตัวชี้วัดระดับความร่วมมือและช่องว่างของปัญหาการขาดข้อมูลข่าวสาร 

 

 

วันที่ปรับปรุง:2553-01-26

เอกสารแนบ: ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน
 
 

Visitor Number
5285147
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]