เหมืองแร่สีเขียว (Green Mining)
กลุ่มที่ปรึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม
ความเป็นมา เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่ในปัจจุบันเป็นกิจการที่มีภาพลักษณ์ไปในทางที่เป็นลบเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ปัญหาหลักได้แก่ การประกอบการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับผู้ประกอบการบางส่วนมิได้นำหลักวิชาการด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย มาดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้การประกอบการขาดประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้กระแสสังคมมีความรู้สึกที่ไม่ยอมรับการประกอบการของภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ต่อเนื่องจากแร่
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้นจากการกำกับดูแลเพียงอย่างเดียวเป็นการดำเนินการควบคู่กันไป โดยสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่างๆเพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการที่ดี ซึ่งหากผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานจะแทบไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมกำกับดูแลอีกต่อไป จึงได้จัดทำโครงการกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการชั้นดี ขึ้นในปี 2547 เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่โดยจำแนกเป็น 5 ประเภทตามกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม โรงงานโม่บดและย่อยหิน และโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ โดยรายละเอียดมาตรฐานทุกประเภทจะครอบคลุมใน 4 ด้านหลักของการประกอบการ ได้แก่ ด้านการจัดการและคุณภาพการประกอบการ ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน โดยได้ทำการคัดเลือก ให้รางวัล และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ได้รับรางวัล นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
ต่อมาในปี 2552 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการที่รับผิดชอบให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงได้ประกาศนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 โดยเน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งมางด้านการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ พร้อมๆกับการสนับสนุนและผลักดันให้สถานประกอบการ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดโอกาศให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้การประกอบการเหมืองแร่เป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป
ความหมาย เหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมโดยก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและเป็นการพัฒนาทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับทุกๆด้านในการประกอบการเหมืองแร่และกิจกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว มีความโปรงใสในการดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและประหยัด โดยครอบคลุมกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 4 ประเภท ได้แก่ การทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม และการโม่ บด หรือย่อยหิน
คุณสมบัติของเหมืองแร่สีเขียว จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการ 6 เรื่อง ดังนี้
1. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง การทำเหมืองจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยจะต้องทำเหมืองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ควบคุมผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อการทำเหมืองก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระดับที่รุนแรง และเกิดการร้องเรียน โดยการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดีโดยเร็ว โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม
2. ลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแร่ต้องมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน มีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และมีการศึกษาและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ปรับปรุงระบบกำจัดมลพิษ โดยมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมคุณภาพต่าง ๆ เช่น 5 ส. ISO 9000 ISO 14000 และ Clean Technology (CT) เป็นต้น
3. ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง การทำเหมืองต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยและสุขภาพที่ได้มาตรฐาน มีการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงานเหมืองและประชาชนทั่วไป มีระบบตรวจสอบและควบคุมมลพิษไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอกเหมืองแร่
4. มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา การทำเหมืองจะต้องมีการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม เปิดการทำเหมืองเฉพาะบริเวณที่มีแร่เท่านั้น บริเวณที่ไม่ได้มีกิจกรรมการทำเหมืองจะต้องทำการปลูกต้นไม้และปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม บริเวณที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วต้องทำการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการทำเหมือง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ เพื่อลดสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูโดยจัดสรรจากกำไรที่ได้จากการพัฒนาทรัพยากรแร่ เพื่อเป็นหลักประกันในการฟื้นฟูพื้นที่หลังจากประทานบัตรหมดอายุแล้ว
5. โปร่งใสตรวจสอบได้ การทำเหมืองต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองให้สาธารณชนรับทราบ และพร้อมรับการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก เช่น การติดป้ายแสดงขอบเขตเหมือง และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
6. ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า การทำเหมืองต้องนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด ศึกษาหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรแร่ ตลอดจนศึกษาหาวิธีนำของเสียจากขบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยส่งเสริมให้มีการจัดทำ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การดำเนินงาน เพื่อเป็นการผลักดันให้นโยบายเหมืองแร่สีเขียวบรรลุผลเป็นรูปธรรม มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของ สาธารณชน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการดังนี้
1.จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเหมืองแร่สีเขียว โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมาจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรแร่และการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ สภาการเหมืองแร่ สมาคมโรงโม่หิน และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น โดยคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อกำหนดคุณสมบัติเหมืองแร่สีเขียว จัดทำคู่มือและจัดฝึกอบรม เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการยกระดับเป็นสถานประกอบการเป็นเหมืองแร่สีเขียว ประเมินผู้สมควรได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว กำหนดสิทธิพิเศษของผู้ได้รับรางวัล และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเหมืองแร่สีเขียวเพื่อปฏิบัติงามตามที่คณะกรรมการฯมอบหมาย โดยในปัจจุบัน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาเหมืองแร่สีเขียวแล้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 และจัดประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552
2.การให้รางวัลและสิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว
การเชิดชูเกียรติและการให้สิทธิประโยชน์ของสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว ได้แก่ การมอบรางวัลสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว และกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการประกอบการ เพื่อสร้างแรงจูงใจและค่านิยมในการพัฒนาสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคม รวมถึงยกย่องสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สถานประกอบการอื่น ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานได้
3. แผนการดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2552
กิจกรรม
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลสถานประกอบการมาให้ฝ่ายเลขานุการฯ
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนมิถุนายน
กิจกรรม
2.นำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการฯ
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม
กิจกรรม
3.ตรวจสอบพื้นที่
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนสิงหาคม-กันยายน
กิจกรรม
4.คณะอนุกรรมการฯสรุปผลการคัดเลือก
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนตุลาคม
กิจกรรม
5.เสนอผลการดำเนินการให้คณะกรรมการพิจารณาสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียวพิจารณา
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนพฤศจิกายน
กิจกรรม
6.ประกาศรายชื่อสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนธันวาคม
กิจกรรม
7.จัดงานมอบรางวัลสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว
ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกุมภาพันธ์
4. การประชาสัมพันธ์
การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเหมืองแร่สีเขียว จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซด์ของ กพร. โดยใช้ชื่อ Green Mining โดยจะใช้ประชาสัมพันธ์ นโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่สีเขียว เช่น การประชุมพิจารณาคัดเลือก รายชื่อผู้ได้รับรางวัล สิทธิประโยชน์ และพิธีมอบรางวัล เป็นต้น โดยสามารถเปิดดูได้ที่ http://greenmining.dpim.go.th/
-------------------------------------------------