สถานประกอบการเหมืองแร่เป็นสถานประกอบการหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการให้ความเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ดำเนินการตรวจสอบกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการอย่างถูกต้องและครบถ้วนโดยเคร่งครัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเหมืองแร่จึงมีความพร้อมในการเข้าร่วม โครงการคัดเลือกและมอบรางวัลแก่สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการสภาพแวดล้อมดีเด่นประจำปี 2551 (EIA Monitoring Awards 2008) ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดขึ้น โดยการพิจารณาคัดเลือกสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสถานประกอบการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมีสถานประกอบการเหมืองแร่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ จะได้รับข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภายนอก รวมทั้งเป็นการเปิดการทำเหมืองให้ปรากฏสู่สายตาหน่วยงานและบุคคลภายนอกได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ตลอดจนแสดงให้เห็นว่าสถานประกอบการเหมืองแร่มีความตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรการและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
สถานประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับมอบรางวัล EIA Monitoring Award 2008 ประเภทรางวัลดีเด่น จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 มีจำนวน 10 โครงการ ดังนี้
1.โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เจ้าของโครงการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย(แก่งคอย) จำกัด ที่ตั้ง ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
2. โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เจ้าของโครงการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ที่ตั้ง ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
3. โครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เจ้าของโครงการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย(ท่าหลวง) จำกัด ที่ตั้ง ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
4. โครงการเหมืองแร่หินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เจ้าของโครงการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ที่ตั้ง ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
5. โครงการเหมืองแร่หินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เจ้าของโครงการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ที่ตั้ง ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
6. โครงการเหมืองแร่เกลือหิน เจ้าของโครงการ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด ที่ตั้ง ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
7. โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เจ้าของโครงการ นายลำพูน กองศาสนะ ที่ตั้ง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
8. โครงการเหมืองแร่โดโลไมต์และหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เจ้าของโครงการ นายประสิทธิ์ ทวนดำ (บริษัท ตรังยูซี จำกัด รับช่วง) ที่ตั้ง ตำบลทุ่งค่าย และตำบลโคกสะบ้า อำเภอย่านตาขาว และอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
9. โครงการเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ เจ้าของโครงการ บริษัท พิพัฒน์กร จำกัด ที่ตั้ง ตำบลวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก
10. โครงการเหมืองแร่หินปูนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ตั้ง ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับสถานประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล EIA Monitoring Awards 2008 เนื่องจากเป็นสถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่สถานประกอบการเหมืองแร่ ทำให้การทำเหมืองเป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาการทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืนสืบไป