ค่าภาคหลวงแร่กับการจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

   ทรัพยากรแร่แตกต่างจากทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตรงที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลืองประเภทที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ ประกอบกับทรัพยากรในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านความสมบรูณ์ของแหล่งแร่


รายละเอียดบทความ

   ทรัพยากรแร่แตกต่างจากทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตรงที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลืองประเภทที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ ประกอบกับทรัพยากรในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านความสมบรูณ์ของแหล่งแร่ คุณภาพ  ภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ  ระดับความลึก และการวางตัวของแหล่งแร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับต่างๆ ประเทศไทยมีแนวคิดที่ว่าทรัพยากรแร่ เป็นสมบัติของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและประสานประโยชน์ และให้ภาคเอกชนมีบทบาทที่เหมาะสม เพื่อความเท่าเทียมกันในการได้รับประโยชน์จากแหล่งแร่ หมายถึงการให้โอกาสคนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากการมีอยู่ของทรัพยากรในประเทศ ทั้งผู้ประกอบการเหมืองแร่ ผู้ใช้แร่ และประชาชนทั่วไป กล่าวคือในแง่ของผู้ประกอบเหมืองแร่ทั้งรายใหญ่และรายเล็กควรได้รับความยุติธรรมจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งแร่อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในส่วนของการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ การได้รับสิทธิในการทำเหมือง และการชำระค่าธรรมเนียมจากการใช้ทรัพยากรให้แก่รัฐ ในแง่ของผู้ใช้แร่ก็ควรได้ใช้ทรัพยากรแร่ในราคายุติธรรม ซึ่งราคายุติธรรมนี้หมายถึงราคาที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องไม่ใช่ราคาที่สูงเกินไปเนื่องจากการมีอำนาจผูกขาดของผู้ผลิต และต้องไม่ใช่ราคาต่ำเกินไปเนื่องจากเป็นราคาที่ไม่ครอบคลุมต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นเช่นไม่รวมต้นทุนค่ารักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังการทำเหมือง ส่วนในแง่ของประชาชนทั่วไปในฐานะเจ้าของทรัพยากรแร่ในประเทศควรได้รับเงินค่าตอบแทนจากการที่มีผู้นำทรัพยากรแร่ไปใช้ประโยชน์ เพื่อที่รัฐซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะได้นำมากระจายสู่สังคมให้ได้รับประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ การจัดเก็บรายได้ส่วนนี้รู้จักกันทั่วไป คือ “ภาษีทรัพยากรแร่” การเก็บภาษีทรัพยากรแร่นี้ ประเทศต่างๆ เรียกเก็บโดยชื่อต่างๆ กัน และด้วยวิธีและระบบที่แตกต่างกันไปตามแต่รัฐบาลของประเทศนั้น สำหรับประเทศไทย เรียกภาษีทรัพยากรแร่ว่า “ค่าภาคหลวงแร่” ซึ่งถือเป็นเงินค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ต้องชำระให้แก่รัฐบาลเพิ่มเติมต่างหากนอกเหนือจากภาษีอื่นๆ ที่ต้องชำระตามปกติ ค่าภาคหลวงแร่ จึงมีลักษณะเป็นการชดเชยความสูญสิ้นไปของทรัพยากรแร่ รวมทั้งเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่ให้แก่ภาครัฐ
การทำเหมืองแร่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาลตามมูลค่าของทรัพยากรแร่ โดยจ่ายเป็นอัตราร้อยละที่คงที่ของราคา คูณด้วย ปริมาณแร่ที่ผลิตได้ ยกเว้น แร่ดีบุก แร่ทังสเตน แร่ตะกั่ว แร่สังกะสี และแร่ทองคำ ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องจ่ายเป็นอัตราแบบก้าวหน้า (Progressive Rate) และอัตราค่าภาคหลวงนี้จะแตกต่างกันในระหว่างแร่ การเก็บค่าภาคหลวงของรัฐบาลถือเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเหมืองแร่ อาจสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการเหมืองแร่มากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ราคาแร่ต่ำมากและผู้ประกอบการเหมืองแร่กำลังขาดทุน อัตราค่าภาคหลวงจึงมีผลต่อการผลิตแร่ในประเทศ อัตราค่าภาคหลวงที่สูงเกินไปเป็นการไม่สนับสนุนการผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอัตราค่าภาคหลวงที่ต่ำเกินไปทำให้รัฐบาลและสังคมส่วนรวมสูญเสียเงินรายได้ การเก็บค่าภาคหลวงในอัตราที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มีการสำรวจและพัฒนาเหมืองแร่ในระยะยาว
การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากรในรูปของค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละของราคานี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการจัดเก็บภาษีง่าย ต้นทุนในการบริหารการจัดเก็บภาษีต่ำ และเก็บได้เที่ยงตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รัฐสามารถคาดคะเนปริมาณรายได้จากภาษีนี้ได้ง่าย  นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนอัตราภาษีได้ง่าย หรือใช้วิธีจัดเก็บในรูป Ad Valorem Tax with Progressive Pattern คือสามารถปรับอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาแร่ได้ง่าย นั่นคือ เมื่อแร่มีราคาต่ำก็เก็บค่าภาคหลวงในอัตราต่ำ แต่เมื่อแร่มีราคาสูงขึ้นก็เก็บค่าภาคหลวงสูงขึ้นตาม สำหรับข้อเสียคือ ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพแหล่งแร่แต่ละแหล่งที่แตกต่างกัน ผลตอบแทนการลงทุน(กำไร)ของผู้ประกอบการเหมืองแต่ละรายแตกต่างกัน แต่ผู้ประกอบการเหมืองแต่ละรายจะต้องรับภาระการจ่ายเงินให้รัฐบาลเท่ากัน ทั้งๆ ที่ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการเหมืองแต่ละรายไม่เท่ากันเนื่องจากต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเหมืองแต่ละรายต่างกัน ถ้าความแตกต่างของต้นทุนในการผลิตแต่ละเหมืองเนื่องมาจากการมีประสิทธิภาพการผลิตที่แตกต่างกัน ก็ถือเป็นเรื่องที่เจ้าของเหมืองจะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงการทำงานในเหมืองของตน แต่ถ้าความแตกต่างนี้เกิดจากการได้รับประโยชน์จากการบริการพื้นฐานของรัฐบาลแตกต่างกัน เช่นแหล่งที่ตั้งของบางเหมืองอยู่ใกล้ถนน ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งแร่ถูกกว่าเหมืองที่อยู่ในที่ทุรกันดาร ไม่มีการคมนาคม ในกรณีนี้การที่ผู้ประกอบการเหมืองทุกรายรับภาระค่าภาคหลวงเท่ากันอาจเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ทำเหมืองรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ เป็นรายได้สำคัญส่วนหนึ่งของรัฐที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานและตัวจักรสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งในส่วนของงบประมาณและค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน และปัจจุบันประชาชนในท้องถิ่น มีความตื่นตัวและมีบทบาทในการเข้ามาปกป้องดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลเริ่มมีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรรายได้ ค่าภาคหลวงแร่กลับคืนสู่ท้องถิ่น จะได้กล่าวในฉบับต่อไป

 

วันที่ปรับปรุง:2553-08-09

เอกสารแนบ: ค่าภาคหลวงแร่ สบส.New เอกสาร Microsoft Word
 
 

Visitor Number
5782324
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
::
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ::
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.0-2202-3554, 0-2202-3557 โทรสาร.0-2202-3555
[ที่ตั้งกรมฯ]