การประกอบธุรกิจทำเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับแร่นับตั้งแต่การสำรวจแร่ การทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ การประกอบโลหะกรรม การซื้อขายแร่ การเก็บ การครอบครอง การขนแร่ และการนำเข้าหรือส่งแร่ออกนอกประเทศ จะถูกกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขออนุญาต ถูกควบคุมการดำเนินการโดย พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยมีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับ และมีเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ สังกัดสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขออนุญาตต่างๆ และติดต่อโดยตรงกับผู้ยื่นคำขอในท้องที่
ระบบสัมปทานเหมืองแร่ แบ่งออกเป็น
1.การอนุญาตให้สำรวจแร่ การสำรวจแร่ หมายความว่า การเจาะหรือขุดหรือกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เพื่อให้รู้ว่าเป็นพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาชนิดแร่ที่ต้องการและตรวจสอบปริมาณแร่ วิธีการที่ใช้ในการสำรวจแร่นั้น จะครอบคลุมการตรวจดูลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ ธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์ การเจาะหลุมสำรวจ การขุดหลุมหรือร่องสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสำรวจแร่ในที่ใดไม่ว่าที่นั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ และอาญาบัตรพิเศษ
1.1อาชญาบัตรสำรวจแร่ เป็นหนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่ออนุญาตให้สำรวจแร่ภายในพื้นที่ซึ่งระบุไว้ตามเขตปกครองเป็นอำเภอซึ่งเป็นการอนุญาตที่ไม่ผูกขาดการสำรวจแร่ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เป็นผู้ออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ ซึ่งจะมีอายุ 1 ปี
1.2อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ เป็นหนังสือสำคัญที่อนุญาตให้ผูกขาดสำรวจแร่ภายในเขตที่กำหนดให้ การขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ มี 2 ประเภท คือ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่บนบก จะขอได้ไม่เกิน 2,500 ไร่ แต่นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม จะออกให้ไม่เกิน 1,250 ไร่ เว้นแต่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่มีอายุ 1 ปี นับแต่วันออก อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ในทะเล ขอได้ไม่เกิน 500,000 ไร่ นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีนโยบายไม่ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หินอุตสาหกรรม หินประดับ หินอ่อน และแร่โดโลไมต์ให้แก่บุคคลใด เนื่องจากรัฐได้สำรวจและจัดทำแผนที่แหล่งหินไว้ทั่วประเทศแล้ว
1.3อาชญาบัตรพิเศษ เป็นหนังสือสำคัญที่อนุญาตให้ผูกขาดสำรวจแร่เป็นกรณีพิเศษภายในเขตพื้นที่ที่กำหนด ผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษจะต้องกำหนดข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ โดยแจ้งปริมาณงานและจำนวนเงินที่จะใช้เพื่อการสำรวจสำหรับแต่ละปี ตลอดอายุ อาชญาบัตรพิเศษ และต้องเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษให้แก่รัฐตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและผลประโยชน์จะมีผลผูกพันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษ ต่อไปในภายหลังเมื่อได้รับประทานบัตร ขอได้ไม่เกินคำขอละ 10,000 ไร่ รัฐมนตรีเป็นผู้อนุญาต มีอายุ 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุได้อีก
2.การขออนุญาตทำเหมืองแร่ การทำเหมืองแร่ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บนบกหรือในทะเล ทั้งการทำเหมืองผิวดินและใต้ดิน แต่ไม่รวมการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใด ไม่ว่าที่นั้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของตนหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตร ประทานบัตรเป็นหนังสือสำคัญที่อนุญาตให้ทำเหมืองภายในเขตที่กำหนด การขอประทานบัตร ให้ยื่นขอต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ พร้อมด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะทำเหมืองอยู่ในเขตคำขอนั้น และต้องเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษตอบแทนแก่รัฐตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด ในกรณีที่ได้รับประทานบัตร รัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตรจะขอได้ไม่เกิน คำขอละ 300 ไร่ โดยจะกำหนดอายุไม่เกิน 25 ปี ถ้าประทานบัตรใดกำหนดอายุไว้ต่ำกว่า 25 ปี อาจจะขอต่ออายุได้จนครบ 25 ปี แต่ กพร. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอายุประทานบัตรและการขอต่ออายุประทานบัตรในที่ดินของรัฐโดยทั่วไปกำหนดอายุประทานบัตร 10 ปี เว้นแต่ในการขอสำหรับผลิตปูนซีเมนต์ และผู้ขอเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์เอง ประทานบัตรสำหรับแร่ที่ใช้ผลิตสาธารณูปโภคของรัฐ และผู้ขอต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ประทานบัตรสำหรับแร่ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งอายุเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากกว่า 10 ปี ประทานบัตรสำหรับแร่ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศโดยการประมูลแหล่งแร่เป็นโครงการขนดใหญ่ ประทานบัตรสำหรับแร่ที่มีการสำรวจต่อเนื่องจากอาชญาบัตรพิเศษ แร่เหล่านี้จะกำหนดอายุให้ไม่เกิน 25 ปี
3.การรับช่วงการทำเหมือง ผู้ถือประทานบัตรที่ประสงค์จะให้ผู้อื่นรับช่วงดำเนินการทำเหมืองแทนตนจะต้องมีใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมือง โดยรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมือง ปัจจุบันได้มอบให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ การรับช่วงอาจจะทำเฉพาะบางส่วนหรือทั้งหมดของเขตเหมืองแร่ ก็ได้ระยะเวลารับช่วงอยู่ภายในอายุของประทานบัตร และส่วนของเขตเหมืองแร่ก็ได้ระยะเวลารับช่วงอยู่ภายในอายุของประทานบัตร และส่วนของเขตเหมืองแร่ผู้ถือประทานบัตรที่ให้ผู้อื่นรับช่วงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายและผู้รับช่วงนั้นมีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบเสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตรด้วย ทั้งนี้ตามมาตร 77 แห่ง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510
4.การโอนประทานบัตร ผู้ถือประทานบัตรใดประสงค์จะโอนประทานบัตรให้แก่ผู้อื่น ให้ยื่นคำขอโอนต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ เพื่อเสนอตามลำดับไปยังรัฐมนตรี การโอนประทานบัตรจะทำได้เมื่อรัฐมนตรีสั่งอนุญาต และผู้ถือประทานบัตรต้องไม่มีหนี้สินค้างชำระ ตาม พ.ร.บ. แร่ การโอนมี 3 ประเภท คือ
1.การโอนทั่วไป
2.การโอนให้ด้วยเสน่หา ให้แก่บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือผู้สืบสันดานของผู้โอน
3.การโอนโดยการตกทอด เมื่อผู้ถือประทานบัตรตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ทายาท / ผู้อนุญาตต้องยื่นขอภายใน 90 วัน
เมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้ว ผู้ถือประทานบัตรต้องยื่นขอเปิดการทำเหมืองต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ตามมาตรา 60 แต่หากผู้ถือประทานบัตรไม่สามารถทำเหมืองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 เนื่องจากมีเหตุขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้ยื่นคำขอใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ตามมาตรา 61
เหตุขัดข้องในการขอหยุดการทำเหมือง มี 3 กรณี คือ
1.เหตุขัดข้องทางกายภาพ เช่น ไม่มีเครื่องจักร หรืออยู่ระหว่างซ่อมแซม
2.เหตุขัดข้องทางกฎหมาย เช่น ส่วนราชการสั่งการไม่ให้เข้าทำเหมืองในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย หรือหนังสืออนุญาตให้ใช้พื้นที่หมดอายุ
3.เหตุขัดข้องทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาแร่ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง แร่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
ผู้ถือประทานบัตรจะต้องชำระค่าภาคหลวงแร่สำหรับแร่ที่กำหนดไว้ในประทานบัตรก่อนจะขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่
ค่าภาคหลวงแร่ คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการทำเหมือง และขุดผลิตแร่ซึ่งแร่ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อรัฐได้รับเงินค่าภาคหลวงแร่แล้วก็จะนำส่งคลังและจัดสรรให้องค์การปกครองท้องถิ่นตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด