เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อรองรับภารกิจถ่ายโอนของ กพร. เสริมสร้างความรู้ให้ทุกภาคส่วนและสร้างแนวคิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดจากการประกอบการเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยมีการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการเหมืองแร่และผู้ประกอบการโรงโม่บดหรือย่อยหิน เป็นการประชุมครั้งที่ 1/2553 ณ ห้องประชุมโรงเรียนน้ำยืน ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานการประชุม มีสาระการประชุม
1. ชี้แจงโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยโครงการป้องกันผลกระทบด้านมลพิษของสถานประกอบการ ได้แก่ โรงโม่หิน ลานมัน ลานรับซื้อยางพาราและโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยให้ อบต. พิจารณาชักชวนผู้นำชุมนุม ชาวบ้านและสมาชิก อบต. ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมโครงการ
2. ดำเนินการส่งเรื่องยกคำของอาชญาบัตรพิเศษที่ 1-2/2545 ของบริษัท เอส.เอ.พี.เหมืองแร่ จำกัดที่ ต.โคกสะอาด อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี เนื่องจากผู้ขอมิได้ดำเนินการใดๆ ต่อหลังจากยื่นคำขอฯ
3. การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ประจำไตรมาส ที่ 4/2552 มีอบต. ที่ได้ ได้แก่ อบต.โซงและ อบต.ตาเกา ได้เงิน อบต. ละ136,019.52บาท อบต.สีวิเชียรได้เงิน115,539.48บาท และอบต.บุเปือยได้เงิน35,065.44บาท สำหรับ อบจ.อุบลราชธานีได้เงินมากถึง423,378.36บาท
4. หลักความรับผิดชอบต่อสังคม : CSR (Corporate Social Responsibility) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำหลักการดังกล่าวมาจัดทำโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการ เข้าร่วม 5 ราย เป็นสถานประกอบการด้านโรงงาน 4 ราย และด้านเหมืองแร่ 1 ราย โดยด้านเหมืองแร่ได้คัดเลือกโรงโม่หิน บ.กิตติวดีศิลาพาณิชย์ จำกัดเข้าร่วม
5. การพิจารณานำเสนอโครงการที่เป็นกิจกรรมช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชน วัด หรือโรงเรียน เช่น
การใช้พื้นที่ประทานบัตรที่สิ้นอายุของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้มีน้ำท่วมขังและอยู่ในที่สูงหากมีการนำน้ำไปใช้ในการปลูกพืชไร่ นา ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า อบต.โซง ควรทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอใช้ประโยชน์จากบ่อเหมืองดังกล่าว และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้ประสานกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อขอใช้ประโยชน์ต่อไปและขอให้ อบต. ใกล้เคียงร่วมทำโครงการดังกล่าว สำหรับงบประมาณที่จะดำเนินการนั้นสามารถของบได้จาก อบจ.อุบลฯ เนื่องจากมีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้เป็นจำนวนมาก ควรนำมาใช้ในการดูแลพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแร่
6. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสนับสนุนให้มีการมอบรางวัลหรือทุนการศึกษาหรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบการ อบต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
7. ขอความร่วมมือ อบต. ช่วยส่งรายงานตามภารกิจที่ถ่ายโอนของ กพร. ให้ครบถ้วนตรงตาม
กำหนดเวลาด้วย เพื่อจะได้รับรางวัล อปท. ดีเด่น นอกจากนี้ได้แจ้งให้ อบต. ทราบว่า กพร. ได้เปลี่ยน ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว
8. ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นสำหรับ อบต.บุเปือยไม่มี แต่สำหรับ อบต.โซง ต้องการให้ผู้ประกอบการที่ใช้ถนนสายบ้านตาโมซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด
ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน
กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ธันวาคม 2552